ReadyPlanet.com
dot dot
dot
dot
dot
dot




การเรียกร้องความเป็นธรรม

พว.จงกล อินทรสาร ประธานชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน พร้อมด้วย พว.กรรณิการ์ ปัญยาอมรวัฒน์ ที่ปรึกษาชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน และพี่น้องพยาบาลในโรงพยาบาลทั่วประเทศ จำนวน 1,500 คน ได้เข้าร่วมกันชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมและเสมอภาคทางวิชาชีพ ต่อกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็น การบรรจุพยาบาลวิชาชีพ ลูกจ้างชั่วคราว ประเภทเงินบำรุง ให้เป็นข้าราชการ โดยการจัดสรรตำแหน่งจะต้องเป็นธรรม และการปรับปรุงค่าตอบแทนจะต้องเป็นธรรมและลดความเลื่อมล้ำเชิงวิชาชีพ โดย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้ารับขอเสนอนำไปพิจารณาเพื่อความเป็นธรรมต่อไป ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ณ กระทรวงสาธารณสุข

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 กลุ่มพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 1,500 คน ได้มารวมตัวกันที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแสดงเจตนารมณ์และสนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินหน้าปรับการจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายอย่างเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ช่วงก่อนเริ่มการประชุมค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทุกกลุ่มวิชาชีพที่มี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เป็นประธาน โดยมีตัวแทนจากวิชาชีพต่างๆ ด้านสาธารณสุข เช่น แพทย์ รพศ./ รพท. ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ พยาบาล รังสีการแพทย์ กายภาพบำบัด และการวิชาชีพสาธารณสุข ยกเว้น ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบทที่ไม่ได้เข้าร่วม

พว.จงกล กล่าวว่า ชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนและสภาการพยาบาล มีความตั้งใจที่จะดำเนินการให้มีการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรมกับทุกวิชาชีพ เพราะเป็นทีมสุขภาพด้วยกัน แต่การประชุมเพื่อตัดสินใจเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนในครั้งนี้ มีบางกลุ่มต้องการให้วิชาชีพของแพทย์ได้ก่อน โดยให้วิชาชีพอื่นเสียสละ ซึ่งเราไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ว่า เพราะเหตุใดต้องให้คนที่มีรายได้น้อยเสียสละให้คนที่มีรายได้มากกว่า และมีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการทำงานร่วมกันแต่ละวันเรามีค่าตอบแทนต่างกันถึง 27 เท่า จะเป็นไปได้อย่างไร และไม่มีประเทศใดในโลกที่ทำ

"วันนี้เรามาขอให้ปลัด สธ. และ รมว.สาธารณสุข ทบทวนว่าการจ่ายค่าตอบแทนให้กลุ่มวิชาชีพไหนก็แล้วแต่ ควรมองความเป็นธรรมและลดช่องว่างระหว่างวิชาชีพตรงนี้ออกไป เราเข้าใจว่าไม่สามารถทำให้ค่าตอบแทนเท่ากันได้ แต่อยากให้พิจารณาแล้วมีความคิดเห็นร่วมของทุกวิชาชีพว่าจะอยู่ร่วมกันทำงานอย่างมีความสุข โดยยึดผู้ป่วยหรือประชาชนเป็นหลัก คนที่ทำงานหนักก็ควรได้รับค่าตอบแทนที่พออยู่ได้ในสังคมอย่างมีความสุขและมีคุณค่าบ้าง" นางจงกล กล่าว

พว.จงกล กล่าวอีกว่า การลดความเหลื่อมล้ำเรื่องค่าตอบแทน เราตั้งข้อเสนอมาหลายปีตั้งแต่การออกประกาศค่าตอบแทนฉบับ 4 แต่สุดท้ายยังไม่มีการจัดการ จนเมื่อ มี.ค. 2556 สธ.เตรียมประกาศใช้หลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับ 8 และ 9 แม้ทั้งสองฉบับจะยังไม่ช่วยลดช่องว่างระหว่างวิชาชีพ แต่เราพร้อมเดินหน้าเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะเมื่อทำไปแล้วระยะหนึ่งก็สามารถทบทวนปรับปรุงเพื่อสร้างความเปผ็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่มีบางวิชาชีพที่ไม่ยอมทำ ต้องการได้ค่าตอบแทนแบบเดิมโดยไม่ทำอะไร จนนำไปสู่การทบทวนของ สธ. โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทบทวน 3 ชุด โดยชุดแรกจะพิจารณาเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงค่าตอบแทนฉบับ 8 ชุดที่ 2 พิจารณาเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน ซึ่งมีการเปิดโอกาสให้ทีมคณะทำงานได้หารือกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ P4P แบบเดิม หรือ PQO ที่บางกลุ่มบอกว่าจะสะท้อนคุณภาพงานได้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมคิดร่วมทำ เพื่อเดินหน้าฉบับ 9 ร่วมกัน และชุดสุดท้ายพิจารณาช่องว่างฉบับ 8 และ 9 ว่ามีเนื้อหาสาระอะไรควรปรับปรุงเพื่อให้ทุกวิชาชีพพึงพอใจร่วมกัน

พว.จงกล กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการพูดคุยร่วมกันในสหวิชาชีพ แต่ขาดกลุ่มแพทย์ชนบท ซึ่งทุกวิชาชีพทุกคณะลงความเห็นว่า ทุกวิชาชีพควรจะเดินไปด้วยกัน แต่วันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มแพทย์ชนบทขอให้ออกหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับ 10 เพื่อแพทย์ได้ค่าตอบแทนเช่นเดิมเหมือนฉบับ 4 และ 6 ก่อน เพราะฉบับ 8 ทำให้ได้ค่าตอบแทนลดลง แต่จะได้เพิ่มจากฉบับ 9 หากทำงานได้ตามปริมาณหรือคุณภาพที่ทำ โดยให้วิชาชีพอื่นเสียสละเพื่อเขา ซึ่งมองว่าไม่ถูกต้อง ทุกคนเป็นทีมสุขภาพด้วยกันควรมีข้อหารือทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อออกเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันให้ได้ มิเช่นนั้นประชาชนจะรู้สึกอย่างไรถ้าเราต้องมาทะเลาะกันอยู่เรื่อยๆ เวทีวันนี้จึงเป็นเวทีที่เราดีใจที่ สธ.เชิญทุกวิชาชีพเข้าร่วมหารือ ซึ่งคาดหวังว่าจะได้คำตอบสุดท้ายเสียที เพื่อจะเดินหน้าการทำงานต่อ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกลุ่มแพทย์ชนบทยืนยันที่จะต้องออกหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับ 10 เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนก่อนกลุ่มอื่น จะมีปัญหาในการทำงานร่วมกันหรือไม่ นางจงกล กล่าวว่า ส่วนตัวเราดูแลผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ความกินแหนงแคลงใจระหว่างคนเราคงมี แต่เรามีจรรยาบรรณในการดูแลคนไข้ เพราะทุกวิชาชีพไม่ใช่เฉพาะพยาบาลจะไม่ทิ้งประชาชน เพราะประชาชนคือหัวใจของเรา

ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 กล่าวว่า กว่า 10 ปีที่วิชาชีพพยาบาลทำงานหนัก และแบกรับภาระงานมากมาตลอด เมื่อเข้าไปโรงพยาบาลคนไข้จะทราบดีว่าพยาบาลมีจำนวนมากและทำงานเหนื่อยแค่ไหน ขณะที่ค่าตอบแทนกลับน้อยมากเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่น และเมื่อ สธ. จะปรับค่าตอบแทนใหม่ให้ลดความเหลื่อมล้ำ วิชาชีพพยาบาลก็มีจุดยืน คือ ต้องมีความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำจริงๆ ซึ่งในส่วนพยาบาลต้องการค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับภาระงาน

ทั้งนี้ นพ.ณรงค์ ได้ลงมารับหนังสือข้อเรียกร้องของกลุ่มพยาบาล ก่อนเข้าประชุม พร้อมกล่าวว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจะทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของทุกวิชาชีพ เพราะ สธ.มีหน้าที่ต้องดูแลทุกวิชาชีพให้ไปด้วยกันได้ แม้การออกฉบับ 8 และ 9 อาจทำให้มีความเห็นไม่ตรงกัน หรือไม่พอใจ แต่ในการประชุมในครั้งนี้ รมว.สาธารณสุข มอบให้ตนเป็นประธานเพื่อหารือร่วมกับทุกวิชาชีพในเรื่องค่าตอบแทนทั้งระบบ ซึ่งขอยืนยันว่าจะไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด และจะทำให้ ฉบับ 8 และ 9 มีความสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ขอให้ทุกคนเชื่อใจจังหวัดมุกดาหาร







Copyright © 2010 All Rights Reserved.