แจ้งข่าวไปให้กับสมาชิกพยาบาลทุกท่านทราบ
เส้นทางเงินเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่กระทรวงสาธารณสุขมองว่าเป็นยาดีและมีฤทธิ์ที่แรงที่จะแก้ไขภาวะขาดแคลนแพทย์และทันตแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนโดยการจ่ายยาขนานดังกล่าวในการรักษาโรคขาดแคลน แต่มันมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างแรง ยานี้ใช้รักษาโรคมะเร็งสามารถฆ่าเซลมะเร็งได้ คนที่เป็นมะเร็งก็อาจทนต่อผลข้างเคียงของยาชนิดนี้ไม่ไหวและเราก็อาจตายไปพร้อมกับมะเร็งดังกล่าว โดยคนส่วนมากในกระทรวงและเพื่อนร่วมสหสาขาวิชาชีพของกระทรวงสาธารณสุขมองเห็นว่ามันมีผลข้างเคียงที่แรงโดยเฉพาะผลข้างเคียงที่มีผลกระทบต่อจิตใจหรือความรู้สึกของคนในองค์กรเดียวกันเพื่อนร่วมสหสาขาวิชาชีพที่อยู่ในองค์กรเดียวกันหรือในวงการสาธารณสุขพยายามทักท้วงไปทางผู้บริหารของระดับกระทรวงให้ทบทวนสูตรยาดังกล่าวโดยที่ไม่อยากให้มองเฉพาะด้านการที่จะรักษาเพียงอย่างเดียวควรจะมองด้านจิตใจของคนด้วยไม่ได้มองว่ายาดังกล่าวไม่ดีทั้งหมดแต่ควรทบทวนสูตรยาใหม่ไม่ให้มีผลข้างเคียงแรงอย่างนี้และไม่เหลื่อมล้ำจนต่างกันราวฟ้ากับดิน แต่ผู้บริหารพยายามไม่แตะสูตรยาดังกล่าวเพราะคิดว่ากลัวจะมีปัญหาต่อผู้คิดสูตรยา
วันที่ทุกคนทุกโรงพยาบาลได้รับคำสั่งเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ สธ.0201.042.1/ว994 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไป หลายคนทราบเรื่องดังกล่าวมาล่วงหน้าหลายคนทราบมาทีหลังจากการอ่านหรือคำบอกเล่าต่อๆกันมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างมากคือความรู้สึกแตกแยกด้านจิตใจของคนในองค์กรโรงพยาบาล ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันแต่ยาขนานดังกล่าวทำให้รู้สึกขัดแย้งในด้านความรู้สึกและจิตใจ
วันที่ 9 มกราคม 2552 ตัวแทนพยาบาลจากโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยได้มาชุมนุมกัน ณ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขเราเรียกร้องตรงนี้ไม่ได้เอาเงินมาเป็นตัวตั้งแต่เราต้องการความยุติธรรมในวิชาชีพทั้งที่ในองค์กรโรงพยาบาลเราทำงานค่อนข้างหนักและเป็นกลไกที่สำคัญไม่แพ้คนในวิชาชีพอื่นๆ บางพื้นที่ขาดแคลนบุคลากรทำงานหนักเหนื่อยยากในการทำงานมาโดยตลอดอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนบางวิชาชีพเหมือนถูกหวยทำงานไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนและไม่ได้ขาดแคลนแบบแพทย์แต่มีวุฒิบัตรจึงได้รับผลดีไปด้วย วิชาชีพอื่นในโรงพยาบาลกลับถูกทอดทิ้งโดยเฉพาะพยาบาลที่ทำงานหนักและเหนื่อยยาก ก็เลยมาตั้งคำถามว่า การให้ค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแบบนี้แก้ปัญหาความขาดแคลนได้จริงแท้หรือเปล่า ในวันที่ 9 ม.ค.เราเสนอให้มีการทบทวนคำสั่งหรือให้ชลอคำสั่งดังกล่าวเพื่อความเป็นธรรม ซึ่งทางชมรมพยาบาลได้ยื่นข้อเสนอไปทั้งหมด 3 ข้อด้วยกันทุกคนคงพอรู้
ในวันนั้นผมถูกแต่งตั้งจากท่านรัฐมนตรีให้เป็นคณะกรรมการพิจารณาการธำรงรักษาและสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข ให้มีส่วนร่วมในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ขอขอบพระคุณท่าน รมต. ที่ให้โอกาส
วันที่ 20 มกราคม 2552 เวลาประมาณห้าโมงเย็นได้มีการประชุมเพื่อเตรียมเรื่องการพิจารณาดังกล่าว(อ่านรายละเอียดในสรุปประเด็นการประชุมฯ) โดยมีท่านรองปลัดฯ ศิริพร กัญชนะ เป็นประธาน มีหลายวิชาชีพที่เข้าร่วมประชุม เช่น แพทย์ ตัวแทนกลุ่มวิชาชีพพยาบาล ตัวแทนเภสัชกร ตัวแทนนักเทคนิคการแพทย์ ตัวแทนชมรมเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย แต่ละคนก็เสนอความคิดเห็นควรมีการทบทวนคำสั่งการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย โดยเฉพาะ นพ. ศุภกิจ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ พูดได้ดีมากว่าควรคำนึงถึงfeelingหรือความรู้สึกของคนในองค์กรด้วยและควรพิจารณาออกคำสั่งให้มีการจ่ายค่าตอบแทน/หรือให้วิชาชีพอื่นได้รับด้วย ก็ได้รับการบ้านจากประธานการประชุมให้แต่ละวิชาชีพ กลับไปหาค่าตอบแทนโดยดูจากฐานค่าตอบแทนของภาคเอกชนแล้วคิด 60 %ของค่าตอบแทนภาคเอกชนแล้วนำมาเสนอในที่ประชุมวันที่ 22 มกราคม 2552 ว่าจำนวนคน เท่าไหร่ต้องใช้เงินเท่าไหร่ (ไม่รู้ว่าตั้งธงอะไรไว้ในใจ คิดเอาเองนะว่าดูสิอยากได้กันนักจะมีเงินให้หรือเปล่า)
วันที่ 22 มกราคม 2552 เวลาประมาณ 9 โมงครึ่ง ที่ประชุมใหญ่มีท่าน รมช. เป็นประธานอยู่ประมาณ เกือบชั่วโมงแล้วให้แต่ละวิชาชีพนำเสนอข้อมูลของแต่ละวิชาชีพคนละ 5 นาที เราก็เสนอไปในrate พื้นที่ปกติ เริ่มที่ 3,000 4,000 5,000 และ 6,000 ตามลำดับ พื้นที่ทุรกันดารระดับ 1 เริ่มที่ 5,000 6,000 7,000 และ 8,000 ตามลำดับ พื้นที่ทุรกันดารระดับ 2 เริ่มที่ 7,000 8,000 9,000 และ 10,000 ตามลำดับ และเสนอให้พยาบาลนอก รพช.ให้ได้รับค่าตอบแทนด้วย และวิชาชีพอื่นๆ ก็เสนอข้อมูลของตัวเอง บางวิชาชีพก็ขอมาเทียบเคียงกับพยาบาล ต่อจากนั้น ท่านรองปลัดฯดำเนินการประชุมต่อทุกวิชาชีพ เสนอรวมกันแล้วยอดเงินรวมประมาณ 8,300 ล้านบาทต่อปีดูเหมือนว่าไม่มีใครสามารถที่จะแตะคำสั่งเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่ออกมาก่อนหน้านี้ได้หลายคนในที่ประชุมก็คงรู้สึกอึดอัดพอสมควรแม้แต่แพทย์บางคนก็ไม่เห็นด้วยทั้งหมดกับคำสั่งดังกล่าวอยากจะให้มีการทบทวนถึงความเหมาะสมแต่
.. (คิดเอาเองในใจก็แล้วกันว่าเพราะอะไรหลายๆคนคงพอจะรู้ดี) สุดท้ายท่านรองปลัดฯ บอกว่ามีเงินให้แค่ 3,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น แค่ 3 วิชาชีพก็ปาเข้าไปตั้ง1,700 ล้านบาท เหลือให้วิชาชีพที่เหลือแค่ 1,300 ล้านบาท (ยุติธรรมแล้วหรือ) โดยขอให้ตัวแทนแต่ละวิชาชีพเป็นกรรมการพิจารณาอีกทีในวันที่ 23 มกราคม 2552 แล้วเสนอให้ท่านปลัดและรมต.พิจารณาต่อไปโดยมอบให้ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานร่วมกันพิจารณาอีกที โอ้ย! เครียดครับท่าน
ทั้งหมดทั้งปวงต้องขอเป็นกำลังใจให้พี่กรรณิกา ปัญญาอมรวัฒน์ หนึ่งในตัวแทนของพวกเรา พี่คนนี้สุดยอดข้อมูลเพียบต่อสู้และเสียสละเพื่อพวกเราชาวพยาบาลแบบสุดๆไปเลยขอให้ทุกคนเป็นกำลังใจให้พี่ กว่าจะได้มาซึ่งค่าตอบแทนต้องแลกมาด้วยสมอง หยาดเหงื่อและน้ำตาที่เกือบจะเป็นสายเลือดอยู่แล้ว
ผู้ใหญ่บางท่านที่กระทรวงคิดว่ายานี้ดีจริงจะใช้รักษาคนเป็นโรคโดยให้ยาเข้าที่สมอง ที่ฟัน ที่หัวใจ โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านการทำงานของอวัยวะต่างๆ พวกเราเป็นมือเป็นเท้าทำงานจนมือเป็นประวิง มือเริ่มแตก เท้าเริ่มด้านผิวหนังบางส่วนแตกและมีเลือดออก ท่านบอกว่ามือและเท้าไม่สำคัญไม่เคยให้อาหารไม่เคยซื้อโลชั่นให้ทาไม่เคยซื้อรองเท้าให้ใส่ให้เดินให้ใส่เท้าเปล่าแต่ท่านบอกให้เราช่วยกันนึกถึงประเทศชาติและประชาชน แล้วท่านคิดอะไรอยู่
สรุปตอนนี้จากความคิดเห็นส่วนตัวยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควรแถมมีโจทย์ว่ามีเงินเหลือเพียงเท่านี้เอาไปแบ่งกันเอาเองนะ ยุติธรรมหรือไม่คิดกันเอาเองนะและจะจบกันเพียงเท่านี้หรือ
มีความก้าวหน้าของข้อมูลเพียงเท่านี้แล้วค่อยพบกันใหม่
ชัยพันธ์
23/1/2552 เวลา 11.00น