นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติร่วมรับประทานอาหารเย็นกับชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนและพย.จงกล อินทสาน ประธานชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน ถือโอกาสขอความเป็นธรรมต่อวิชาชีพพยาบาลกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 9 มกราคม 2555 ณ กระท่อมเจ้าพระยารีสอร์ท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งทางชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนร่วมกับสำนักการพยาบาล จัดการประชุมเพื่อทบทวนภารกิจกลุ่มงานการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนด้านการจัดการสาธารณภัย ระหว่างวันที่ 9 - 10 มกราคม 2555 ณ กระท่อมเจ้าพระยารีสอร์ท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยขอความอนุเคราะห์จากท่านวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นดังนี้
1. ความก้าวหน้าของหัวหน้าพยาบาล ในระดับชำนาญการพิเศษ ดังนี้
ขอเสนอให้มีการแต่งตั้งตำแหน่งหัวหน้าพยาบาล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
ที่เหลืออีกจำนวน ๓๖๑ คน เป็นหัวหน้าพยาบาล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ โดยไม่ต้องใช้ตำแหน่งว่างมายุบรวม
2. การบรรจุนักเรียนทุนพยาบาลและพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวให้เป็นข้าราชการดังนี้
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
๑.พยาบาลที่เป็นนักเรียนทุนและเป็นลูกจ้างชั่วคราวในระบบอีกประมาณ ๖,๑๕๐ รายที่ยังไม่ได้รับการบรรจุ ซึ่งการบรรจุ พยาบาลวิชาชีพเป็นข้าราชการจะสามารถแก้ไขภาวะขาดแคลนพยาบาล
ให้บริการกับประชาชนทุกระดับได้ดังรายละเอียดตามเอกสารประกอบเรื่องการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการ
๒.ตำแหน่งที่ใช้ในการบรรจุเป็นตำแหน่งที่ตัดคืนจาก กรณีมีผู้เกษียณ ลาออก เสียชีวิต ทำให้ตำแหน่งที่ มีจำนวนน้อยกว่าความต้องการพยาบาลที่แท้จริง
๓.การลงทุนในการผลิตของสถาบันพระบรมราชชนก มีนโยบายการผลิตเพื่อสนับสนุนการให้บริการในกระทรวงสาธารณสุข แต่กลับพบว่าผลิตมาแล้วไม่มีตำแหน่งรองรับทำให้พยาบาลที่จบไปปฏิบัติงานที่อื่น จึงทำให้ไม่เกิดการแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข
๔.ภาระเงินบำรุงของหน่วยงานที่ต้องจ่ายเป็นค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวหรือค่าตอบแทนล่วงเวลา ของพยาบาล เป็นสิ่งสะท้อนปัญหาความขาดแคลนกำลังคนที่ยังคงมีอยู่
๕.ความขาดแคลนกำลังคนส่งผลให้หลายโรงพยาบาลที่มีปัญหาภาระเงินบำรุง ลดการให้บริการและใช้การส่งต่อ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงความไม่พร้อมของอัตรากำลังในการให้บริการ
ข้อเสนอ
๑.ขอให้ทบทวนมติ กพ. ที่กำหนดให้สายงานพยาบาล เป็นสายงานวิชาชีพที่ไม่ขาดแคลน เพราะขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริง
๒.ให้มีการกำหนดตำแหน่งข้าราชการ สายงานพยาบาลวิชาชีพ ตามกรอบอัตรากำลัง ( GIS) เพื่อบรรจุลูกจ้างพยาบาล และให้มีการทบทวนเรื่องตำแหน่งข้าราชการ กับภาระงานทุกปี
๓.หากไม่สามารถกำหนดตำแหน่งใหม่รองรับควรมีการกำหนดงบประมาณ ค่าจ้างรองรับเพื่อให้เกิดการกระจายกำลังคนและลดภาระเงินบำรุงโรงพยาบาล
3. ขอให้ทบทวนค่าตอบแทน ดังนี้
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
1.จากหนังสือฉบับดังกล่าวได้นำมาซึ่งความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุขอย่างไม่เคยมีมาก่อน และในปี 2554 เมื่อไม่มีงบประมาณมาสนับสนุนการจ่ายค่าตอบแทนตามระเบียบดังกล่าวและมีหนังสือที่ สธ.0205.02.4/9581 ลงวันที่ 14 กันยายน 2554 ให้สามารถเบิกจ่ายค่าตอบแทนตามระเบียบดังกล่าวจากเงินบำรุง ยิ่งมีผลให้สถานะเงินบำรุงโรงพยาบาลชุมชนขาดสภาพคล่อง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลในภาพรวม
2.เกิดความไม่เป็นธรรมต่อบุคลากร ในโรงพยาบาลที่มีสถานะเงินบำรุงขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว ขณะที่บางโรงพยาบาลมีสถานะการเงินดี สามารถจ่ายได้ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับทุกคนจากการจ่ายแบบเหมาจ่ายตามพื้นที่ นอกจากนี้การจ่ายตามระเบียบนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพสาธารณสุขอย่างเห็นได้ชัด
3.ผลลัพธ์ที่เกิดไม่คุ้มค่าคุ้มทุน แม้นจะพบว่ามีจำนวนแพทย์ ทันตแพทย์ เพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลชุมชน แต่กลับพบว่าศักยภาพการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชนยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และยังมีการจำกัดจำนวนผู้รับบริการ ส่งผลให้เกิดความไม่พึงพอใจต่อการบริการ
4.การจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน จะส่งผลให้ทุกวิชาชีพมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริการที่สอดคล้องกับภาระงานและค่าตอบแทนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้รับบริการ
ข้อเสนอ
1.เร่งรัดให้มีการทบทวนระเบียบค่าตอบแทนตาม หนังสือที่ สธ.0201.042.1/ว994 และหนังสือที่ สธ.0201.042.1/ว100 และ ให้มีการประกันผลงานทั้งปริมาณและคุณภาพ
2.ปรับปรุงการจ่ายค่าตอบแทนที่สะท้อนผลงานหรือตามภาระงาน โดยมีคณะกรรมการในการพิจารณาหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนที่มาจากทุกวิชาชีพ ทุกระดับสถานบริการ เพื่อช่วยให้การใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งรัดให้มีการนำสู่การปฏิบัติ
3.ให้มีการศึกษาผลกระทบที่เกิดกับผู้รับบริการและประชาชนในการเข้าถึงบริการ การลดระยะเวลาของการเข้ารับบริการ การลดผลกระทบที่เกิดจากการบริการ การส่งต่อ การปฏิเสธการให้บริการ เทียบเคียงกับงบประมาณที่ใช้ในการจ่ายค่าตอบแทน
4.ให้มีการศึกษาผลกระทบกับเงินบำรุงโรงพยาบาลเทียบเคียงกับผลลัพธ์ของการให้บริการที่เกิดขึ้น และเสนอผลการศึกษาต่อสาธารณะ
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ทราบความเดือดร้อนของวิชาชีพพยาบาลมาตลอดและจะเร่งรัดในการดำเนินการโดยให้ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขรายงานผลการดำเนินงานความก้าวหน้าภายใน 2 เดือน ส่วนการบรรจุนักเรียนทุนพยาบาลและพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว นายกรัฐมนตรีซึ่งมาตรวจเยี่ยมกระทรวงสาธารณสุขและได้แจ้งให้ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการภายใน 2 ปี